เชื้อเพลิงจากถังจะถูกป้อนเข้าปั๊มจ่ายเชื้อเพลิง ซึ่งปั๊มป้อนเชื้อเพลิงเป็นปั๊มความดันต่ำบางแบบอยู่หน่วยเดียวกับปั๊มจ่ายเชื้อเพลิง แต่บางแบบเป็นปั๊มไฟฟ้าจุ่มในถังเชื้อเพลิงตามรูปที่ 2
หลักการทำงานของปั๊มจ่ายเชื้อเพลิงจากรูปที่ 4 จะอาศัยกำลังขับของเฟืองไทมิ่งเพลาข้อเหวี่ยงทำให้เฟืองขับปั๊มจ่ายเชื้อเพลิงหมุน ลูกเบี้ยวเยื้องศูนย์อัดลูกปั๊มให้ทำงาน โดยปริมาตรการดูดเชื้อเพลิงที่เข้าปั๊มจ่ายเชื้อเพลิงนี้ถูกควบคุมด้วยลิ้นควบคุมการดูด (Suction Control Valve หรือ SCV) แล้วจากนั้นลูกปั๊มจะถูกอัดกระแทกจากลูกเบี้ยวเยื้องศูนย์ให้อัดเชื้อเพลิงออกทางลิ้นกันกลับด้านส่ง จ่ายเชื้อเพลิงความดันสูงไปสะสมยังรางร่วม (Common Rail)
เครื่องยนต์ระบบรางร่วมรุ่นที่ 1 ใช้ความดันสูงสุด 1350 bar (บางรุ่นขณะเดินเบาอยู่ที่ 30 bar)
เครื่องยนต์ระบบรางร่วมรุ่นที่ 2 (เริ่มปี ค.ศ. 2001) ใช้ความดันสูงสุด 1600 - 1800 bar
เครื่องยนต์ระบบรางร่วมรุ่นที่ 3 (เริ่มปี ค.ศ. 2003) ใช้ความดันสูงสุด 2000 bar
อนึ่งในปี ค.ศ. 2014 บางประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปจะใช้กฎหมายควบคุมมลพิษยูโรระดับ 6 ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะต้องพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลให้มีแก๊สพิษต่ำลงไปอีก ซึ่งจะใช้ระบบรางร่วมรุ่นที่ 4 ที่มีความดันสูงสุดถึง 3000 bar จังหวะการฉีดเชื้อเพลิงอาจถึง 7 ครั้งต่อ 1 กลวัตรการทำงานของแต่ละสูบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น